วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดคืออะไร?


bmt01 

จุดมุ่งหมายของการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด  

คือ เพื่อจะแทนที่เซลล์ที่ไม่แข็งแรงหรือเซลล์ที่ผิดปรกติในไขกระดูก ด้วยเซลล์ต้นกำเนิดที่แข็งแรง
และปรกติ เนื่องจากเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด สามารถเก็บได้มาจาก 3 แหล่งในร่างกายมนุษย์
          
             การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจึงมักถูกเรียกเป็น การปลูกถ่ายไขกระดูก การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากกระแสเลือด และการปลูกถ่ายเลือดจากสายสะดือ พูดอีกนัยหนึ่ง จุดประสงค์ของการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดคือเพิ่มศักยภาพในการรักษาโรคร้ายชนิดต่างๆ ทั้งโรคมะเร็ง และไม่ใช่โรคมะเร็ง ให้มีโอกาสหายขาด


          Stem cell ที่ปรกติ สามารถหาได้จากผู้บริจาค ซึ่งอาจจะเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรืออาจจะเป็นอาสาสมัครผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ (หรือในบางกรณีของโรคมะเร็ง อาจใช้เซลล์ต้นกำเนิดของตัวผู้ป่วยเอง) Stem cell นั้นจะถูกนำมาให้ผู้ป่วย (ผู้รับ) ทางสายสวนหลอดเลือดดำ หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการเตรียมการโดยการรับยาเคมีบำบัดขนาดสูงแล้ว (บางกรณีใช้การฉายรังสีรักษาทั่วตัวร่วมด้วย) ขั้นตอนเตรียมการก่อนปลูกถ่ายนี้เรียกว่า Conditioning ใช้เวลาประมาณ 5-10 วันแล้วแต่สูตรการรักษา ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง จุดประสงค์ของการ conditioning ก็เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่ยังหลงเหลือคั่งค้างในร่างกายให้หมดสิ้น สำหรับผู้ป่วยเด็กโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคโลหิตจางเบต้าธาลัสซีเมีย จุดประสงค์ของการ conditioning ก็เพื่อเปิดเนื้อที่ในโพรงไขกระดูกให้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของผู้บริจาคสามารถปลูกติด และเจริญแบ่งตัวขึ้นมาเป็นเซลล์ที่ปรกติ และเพื่อปรับภูมิต้านทานของผู้ป่วย (ผู้รับ) ไม่ให้ต่อต้านเซลล์ของผู้บริจาค (ผู้ให้)
          กระบวนการปลูกถ่ายจะกระทำต่อเนื่องจากระยะ conditioning วิธีการปลูกถ่ายคือการให้ stem cells ของผู้บริจาคเข้าไปในตัวผู้ป่วยผ่านทางสายสวนหลอดเลือดดำ คล้ายคลึงกับวิธีการให้เลือดโดยทั่วไป เพียงแต่ต้องมีการติดตามอาการและสัญญาณชีพต่างๆ อย่างใกล้ชิด ขณะให้เซลล์ต้นกำเนิดแก่ผู้ป่วย Stem cells ดังกล่าวจะไหลเวียนไปในกระแสเลือดของผู้ป่วย และเข้าสู่โพรงไขกระดูก ที่ซึ่งต่อมา เซลล์ต้นกำเนิดจะเจริญเติบโต เพิ่มจำนวน และพัฒนาไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆ ที่แข็งแรง ในเวลา 2-3 สัปดาห์ถัดมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น